การเซ้งร้าน หรือเซ้งธุรกิจกิจการต่อถือว่าเป็นวิธีนึงในการเริ่มต้นธุรกิจได้อย่างรวดเร็วโดยที่ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ทั้งหมด หากลองดูดีๆ บางกิจการที่ขายเซ้งนั้นหากรวมอุปกรณ์ต่างๆในการทำงาน และค่าตกแต่งต่างๆมักจะมีราคาที่ถูกลง เมื่อเที่ยบกับตอนที่เริ่มธุรกิจแรกๆ นั่นเพราะหลายๆปัจจัยเช่นเจ้าของเดิมอาจต้องการเงินเพื่อไปทำอย่างอื่นที่จำเป็นกว่าอย่างรีบด่วนหรือไม่มีเวลาดูแลเป็นต้น จึงเป็นโอกาสดีที่เจ้าของใหม่ที่ต้องการเซ้งต่อสามารถซื้อกิจการที่มีต้นทุนถูกกว่าหากลงทุนลงแรงซื้ออุปกรณ์ใช้งานต่างๆหรือตกแต่งร้านออฟฟิสใหม่ด้วยตนเอง หากแต่การจะเซ้งกิจการต่อก็ควรต้องดูหลายๆปัจจัยและความพร้อมของตัวเองด้วย สิ่งที่ควรพิจรณาการเซ้งร้านต่อที่สำคัญๆ มีดังต่อไปนี้
1.ราคาที่เซ้ง
คุณต้องคำนวณราคาให้ดีว่าราคาเซ้งนั้นคุ้มค่ากับสิ่งที่จะได้มาหรือไม่ รวมถึงสิ่งของอุปกรณ์ต่างๆอยู่ในสภาพที่ใช้งานต่อได้หรือไม่ โดยรวมบวกลบคูณหารแล้วอุปกรณ์และสภาพปัจจุบันของร้านหรือกิจการเหมาะสมกับราคาเซ้งไหม เราพอใจกับราคาหรือไม่ถ้าคิดว่าคุ้มในเบื้องต้นกว่าไปเริ่มต้นเองก็ถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว
2. ค่าเช่าและ สัญญาเช่ากับทางเจ้าของที่
ควรสอบถามค่าเช่าและ ตรวจสอบสัญญาให้รอบคอบ เช่น สัญญาเช่าเป็นสัญญาเช่าจากเจ้าของสถานที่จริงๆ หรือว่าเป็นสัญญาเช่าช่วง , ตรวจสอบว่าระยะเวลาการเช่านานเท่าไหร่ , ต่อสัญญาทุกกี่ปี, มีค่าเปลี่ยนสัญญาผู้เซ้งเจ้าใหม่ไหม ถ้าเซ้งแล้วสามารถตกแต่งสถานที่ได้หรือไม่ , ติดป้ายได้ไหมเป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เจ้าของเดิมเท่านั้นที่ตอบได้ดีที่สุด
3. ทำเลของร้านทำเลของกิจการ
ตรงกับความต้องการของเราหรือไม่ธุรกิจต่างๆทำเลจะแตกต่างกันไปเช่นร้านค้าร้านอาหารควรจะอยู่ในทำเลที่ผู้คนสัญจรผ่านไปมา หากเป็นร้านอาหารใหญ่หน่อยมีที่จอดรถให้ลูกค้าหรือไม่หรือว่าธุรกิจของเราไม่จำเป็นต้องมีก็ได้, ธุรกิจสถาบันกวดวิชาอาจจะไม่จำเป็นต้องอยู่ในที่คนพลุกพล่านแต่ต้องเดินทางไปมาสะดวกไม่อยู่ในที่เปลี่ยวจนเกินไปเพราะนักเรียนอาจจะเดินทางไปลำบาก ซึ่งทำเลของกิจการเป็นปัจจัยสำคัญอย่างนึงที่เจ้าของธุรกิจจะต้องมีไอเดียในใจว่าธุรกิจตัวเองเหมาะกับทำเลแบบใด
4. กรณีที่ธุรกิจต้องมีพนักงานของร้าน
จะใช้พนักงานเดิมหรือว่าเราต้องหาพนักงานใหม่ บางกิจการพนักงานมีความสำคัญต่อธุรกิจอย่างมาก เช่น ร้านอาหารจะขายได้ดีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับฝีมือของแม่ครัว , ในกรณีร้านนวดไทย ลูกค้าบางคนก็ติดหมอมากกว่าติดร้าน ถ้าคุณเซ้งกิจการต่อจากคนอื่น คุณควรพิจารณาให้รอบคอบว่าจะใช้พนักงานของตัวเองหรือว่าจะจ้างพนักงานชุดเดิม (กรณีเจ้าของเดิมไม่พาพนักงานไปที่อื่นด้วย) ซึ่งแต่ละวิธีก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน
ข้อควรระวังการเซ้งร้าน
5. การประเมินรายได้ปัจจุบันของร้าน
ข้อนี้จริงๆสามารถสอบถามเบื้องต้นกับเจ้าของเดิมได้ แต่จะได้ความจริงหรือเปล่าก็อีกเรื่องนึงเพราะคนจะขายส่วนมากก็จะต้องบอกว่าดีมีลูกค้าเยอะขายได้ต่อวันเท่านี้ ๆ ซึ่งจริงๆแล้วเราสามารถดูคร่าวๆได้จาก ลูกค้าที่เดินผ่านไปมาว่ามีเยอะไหม, ของใช้ที่สต๊อกของเจ้าของเดิมเหลือเยอะไหม หรืออาจจะคอยมีสังเกตทำเลแถวนั้นทั้งเช้าและเย็นว่ามีบรรยากาศลูกค้าเป็นอย่างไรบ้าง การประเมินรายได้รายรับย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถของเจ้าของใหม่ด้วยว่าเป็นอย่างไร บางเคสบ้างร้านเจ้าของเก่าขายไม่ดีเลยแต่กลับกันได้เจ้าของใหม่มาโปรโมทเก่งหาลูกค้าเข้าร้านเก่งรวยไปหลายรายก็มี ให้เห็นเยอะไป
6. เหตุผลที่เซ้งร้าน
จริงๆข้อนี้ไม่อยากให้คิดว่าสำคัญเท่าไหร่ เพราะว่าเหตุผลที่ต้องการเซ้งขายกิจการเดิมสามารถหาเหตุผลได้ร้อยแปดประการ ซึ่งอาจจะจริงบ้างไม่จริงบ้าง โดยรวมแล้วลองคิดว่าเป็นตัวเองดูถ้าไม่อยากทำธุรกิจต่อไปแล้วเหตุผลใหญ่ๆ ก็คือมันไม่เวิร์กสำหรับคุณ อาจจะยอดขายไม่ได้ตามที่ต้องการบ้าง, หาลูกน้องยากบ้าง, เงินหมุนไม่พอบ้าง เป็นต้น แต่เหตุผลที่ไม่เวิร์กสำหรับเจ้าของเดิม อาจจะไม่ใช่เหตุผลของเจ้าของใหม่ที่ไฟแรงอยากดำเนินกิจการต่อไม่ว่าอะไรก็พร้อมจะจัดการแก้ไขปัญหาได้ เพราะฉนั้นเวลาเซ้งก็แค่ถามไปเบาๆว่า ทำไมเซ้งละค๊ะ แค่นั้นก็พอไม่ต้องไปซีเรียสมากให้ดูจากปัจจัยอื่นๆดีกว่าว่าสมควรที่จะเซ้งไปทำเองต่อหรือไม่

ใส่ความเห็น